กิจกรรมที่ผ่านมาของ DiiS | สำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ ม.อ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ศาสตร์โนรา สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ” เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่าน WISE Platform

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ โนราบ้าน 168 ถนนนครใน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา สำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “ศาสตร์โนรา สู่คลังภูมิปัญญาสุวรรณภูมิ” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา ประจำปี 2564 ร่วมบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วม โดยมุ่งหวังส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปะการแสดงโนราและภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ในยุคดิจิทัล ผ่านการนำเสนอในโครงการ WISE Platform (สามารถเข้าถึงได้ที่ https://wise.psu.ac.th หรือ https://trip.psu.ac.th/classroom) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลก ด้านข้อมูลลักษณะภาพด้วยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการคัดกรองบทความเพื่อเผยแพร่ทางวิชาการโลก (WISE Platform)
.
โครงการนี้มีเป้าหมายในการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงโนรา รวมถึงการร้อยลูกปัดโนราให้ได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่ให้แก่คนรุ่นใหม่ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยการนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และสื่อมัลติมีเดีย เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยในโครงการนี้ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะการแสดงโนราและประวัติของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจได้เรียนรู้และเข้าใจถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปะนี้ในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายและมีความทันสมัย
.
โครงการนี้ได้รับการดูแลและสนับสนุนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก โชคสุชาติ รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ ด้านบริหารบริการดิจิทัล และยุทธศาสตร์ข้อมูล และในฐานะหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยคณะทำงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ภายใต้ วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (TASSHA) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่มีคุณสมบัติเฉพาะด้านแกนเวลาเป็นจุดเชื่อมโยงผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ทุกบริบทข้อมูลเข้าด้วยกัน โดยได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศในรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน WISE Platform, Wise Trip และ WISE Classroom เพื่อให้เป็นลานเรียนรู้ แหล่งค้นคว้าให้แก่นักวิชาการ คุณครู/อาจารย์มหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป รวมทั้งเสริมสร้างสังคมทางสุวรรณภูมิศึกษา สร้างความยั่งยืน และส่งเสริมความเข้าใจท้องถิ่นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เชื่อมโยงเข้าสู่ประวัติศาสตร์โลก
.
การอบรมเริ่มต้นด้วยการรายงานภาพรวมโครงการโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก โชคสุชาติ ก่อนที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ
.
ในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับโนรากับดินแดนสุวรรณภูมิ ภายใต้หัวข้อ “ลูกปัดโนรา..สายใยแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ” โดยนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งช่วยเผยแพร่ศิลปะท้องถิ่นและแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมนี้ พร้อมทั้งนำเสนอวิดีทัศน์ “ลูกปัดโนรา..สายใยแห่งดินแดนสุวรรณภูมิ” ซึ่งผลิตโดยโครงการการเพิ่มประสบการณ์ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มสุวรรณภูมิศึกษาเชื่อมโยงโลกฯ
.
ในช่วงการเสวนาหัวข้อ “ศาสตร์โนรา สู่คลังปัญญาสุวรรณภูมิ” ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาหลายท่าน ได้แก่ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ประธานคณะทำงานการจัดตั้งศูนย์วิจัยวัฒนธรรมภาคพื้นสมุทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงโนรา, รองศาสตราจารย์ ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิดชนก โชคสุชาติ รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเสวนา ร่วมเสวนาในหัวข้อดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์โนราในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่ากับการพัฒนาความรู้ทางปัญญาในยุคสมัยใหม่ โดยเน้นการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรมของภูมิภาคสุวรรณภูมิในระดับสากล ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
.
ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนการสร้างสรรค์ลวดลายลูกปัดโนรา ผ่านกิจกรรม Workshop “ร้อยลูกปัดศาสตร์โนรา” ซึ่งเป็นการสืบสานลวดลายของศิลปะโนราที่มีคุณค่าและสืบทอดกันมาหลายร้อยปี
.
การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะโนรา พร้อมกับการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขยายการรับรู้และการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

psudiis03122567 1

นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้
นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้

เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์และเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณสามารถศึกษารายละเอียด นโยบายแนวปฎิบัติการใช้คุกกี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ที่ Cookies Policy